Sakorn News : บางพลี ประเพณีตักบาตรดอกไม้

Sakorn News : บางพลี ประเพณีตักบาตรดอกไม้

รับชม 9 ครั้ง|
ชอบ
ไม่ชอบ
แชร์
sakornchannel
1,454 วิดีโอ
ที่วัดบางโฉลงใน ตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ นายธนู บุญเลิศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่น ประเพณีตักบาตรดอกไม้ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสมุทรปราการ โดยภายในงานได้มีแขกผู้มีเกียรติมาร่วมงานกันอย่างมากมาย อาทิเช่น นายจำเริญ หลำวรรณะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางโฉลง นางสาวชูศรี สัตยานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอบางพลี นายชัย อรุณานนท์ชัย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเขตพื้นที่ภาคกลางตอนกลาง ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติ และประชาชนในพื้นที่ต่างพากันมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งประเพณีตักบาตรดอกไม้มีตำนานมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยมีเรื่องเล่าว่า นายสุมนมาลาการ เป็นชาวเมืองราชคฤห์ เขามีหน้าที่นำดอกมะลิไปถวายพระเจ้าพิมพิสารวันละ 8 ทะนาน ต่อมาเช้าวันหนึ่ง ขณะที่เขากำลังถือดอกไม้จะเข้าประตูเมือง เป็นเวลาที่พระพุทธเจ้าเสด็จออกบิณฑบาตพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เขาเห็นพระพุทธเจ้าแล้วเกิดความเลื่อมใส จึงถวายดอกไม้ ด้วยดอกไม้ที่จะนำไปถวายพระราชาโดยมีความคิดว่า แม้จะต้องตายด้วยโทษประหารก็ยอม ชาวเมืองทราบดังนั้นจึงพาการโห่ร้องสรรเสริญเป็นอันมาก มีเพียงภรรยาของเขาที่ไม่พอใจ ภรรยาจึงนำความนั้นไปกราบทูลพระเจ้าพิมพิสาร แต่พระเจ้าพิมพิสารเป็นพระโสดาบัน นอกจากจะไม่โกรธแล้ว ยังนำความนี้กราบทูลพระพุทธเจ้าอีกที พระพุทธเจ้าได้กล่าวสรรเสริญนายสุมนมาลาการ ทำให้นายสุมนมาลาการได้รับของพระราชทานจากพระเจ้าพิมพิสารถึง 8 ชนิด คือช้าง ม้า ทาส ทาสี เครื่องประดับ นารี อย่างละแปด ทรัพย์อีก 8 พันกหาปณะ และบ้านส่วยอีก 8 ตำบล ครั้นกลับถึงวัด พระอานนท์ได้กราบทูลผลบุญที่นายสุมนมาลาการจะพึงได้รับ พระพุทธองค์ตรัสว่า นายสุมนมาลาการได้สละชีวิตบูชาพระองค์ในครั้งนี้จักไม่ได้ไปเกิดในนรกตลอดแสนกัลป์ ซึ่งในส่วนของชาวตำบลบางโฉลง ก็ได้มีการสืบทอดประเพณีดังกล่าวมาอย่างช้านาน จน ถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่น ซึ่งในสมัยก่อนในช่วงฤดูฝน ดอกไม้จะออกดอกงดงาม ชาวบ้านจะนำดอกไม้ไปคอยถวายพระที่กำลังเดินขึ้นไปที่พระอุโบสถเพื่ออธิษฐานเข้าพรรษา เพราะเชื่อกันว่าการจัดดอกไม้เพื่อนำไปถวายพระจะส่งผลทำให้ได้บุญกุศลไปด้วย แต่ด้วยปัจจุบันสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เต็มไปด้วยโรงงานอุตสาหกรรม ชาวบ้านหันมาทำงานโรงงานและค้าขายมากขึ้น ประเพณีตักบาตรดอกไม้จึงเลือนหายไป ดังนั้นเพื่อเป็นการอนุลักษณ์ประเพณีที่ดีงามของท้องถิ่น ชาวตำบลบางโฉลง จึงร่วมมือกันเพื่อรื้อฟื้นประเพณี ดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อต้องการให้เยาวชนและประชาชนในพื้นที่ได้ร่วมกิจกรรมทำบุญร่วมกัน อันจะนำมาซึ่งการเป็นประเพณีท้องถิ่นที่มีผู้คนสนใจและนำนักท่องเที่ยวเข้ามาสู่พื้นที่ สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่มากขึ้น
แสดงเพิ่ม