ชาวนาน้อยบุรีรัมย์..ปั้นแบรนด์ชุมชนขายออนไลน์

ชาวนาน้อยบุรีรัมย์..ปั้นแบรนด์ชุมชนขายออนไลน์

รับชม 88 ครั้ง|
1
ไม่ชอบ
แชร์
nuisaran
66 วิดีโอ
ในฤดูกาลทำนาของจังหวัดบุรีรัมย์ ถ้าใครมีโอกาสไปผ่านไปแถวอำเภอนางรอง และพื้นที่ใกล้เคียงอีก 5 อำเภอ อาจต้องแปลกใจกับภาพหนุ่มสาวและเยาวชน กำลังขมักเขม้นกับการทำนาตามแบบวิถีเกษตรดั้งเดิม พวกเขาคือเกษตรกรยุคใหม่ผู้ผลิตข้าวแบรนด์ชุมชน “ชาวนาน้อย” ส่งขายทั่วประเทศผ่านช่องทางออนไลน์ คุณมานิต หอมโลก ผู้ผลักดันโครงการข้าวชาวนาน้อย เพื่อเกษตรกรยุคใหม่ เล่าถึงที่มาโครงการฯ ว่า มีเป้าหมายเพื่อสร้างจิตสำนึกให้ลูกหลานเกษตรกรได้เรียนรู้วิถีชาวนาแบบดั้งเดิม เรียนรู้ด้วยตัวเอง ตั้งแต่ขั้นตอนการปักดำ ไปจนถึงแปรรูป จัดจำหน่าย เชื่อมโยงเครือข่ายสินค้าเกษตร เพื่อให้ได้สืบทอดอาชีพเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ แบบยั่งยืน สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้อย่างมั่นคง โครงการนี้เปิดตัวเมื่อนเดือนกันยายน 2559 มีคนรุ่นใหม่ที่เป็นนักเรียน นักศึกษาสนใจเข้าร่วมจำนวนมาก และสร้างเครือข่ายได้แล้วใน 5 อำเภอ 16 ชุมชน เมื่อมีผลผลิตออกมา สมาชิกที่อยู่ในระบบสามารถนำผลิตภัณฑ์ของตัวเองมาขายในแบรนด์เดียวกันคือ “ชาวนาน้อย” โดยสมาชิกแต่ละรายจะมีคิวอาร์โค้ดของตัวเอง เพื่อการตรวจสอบย้อนกลับได้ว่า ข้าวถุงนี้ ใครเป็นผู้ผลิต “เป็นกลยุทธ์ให้คนรุ่นใหม่ ที่จะต่อยอดจากคนรุ่นเก่า เพราะคนรุ่นเก่าส่วนใหญ่จะใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่เป็น และการใข้คิวอาร์โค้ด ยังช่วยให้สมาชิกคำนึงว่าอย่างน้อยเขาต้องรักษาคุณภาพ” ความโดดเด่นของข้าวแบรนด์ชุมชน “ชาวนาน้อย” คือ มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้บริหารจัดการสมาชิก ตลอดจนติดตามตรวจสอบสินค้า และการจำหน่ายผ่านออนไลน์ แต่ในขณะเดียวกันเน้นวิถีเกษตรดั้งเดิมเพื่อการทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืนตามแนวพระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่ 9 “ตัวผมเอง ก็เป็นหมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน และประธานอาสาสมัครเกษตรด้วย ดังนั้นในเรื่องด้านการเกษตร ผมจึงพยายามเอาวิถีของท่าน (ในหลวงรัชกาลที่ 9) มาสอนให้กับประชาชน ในการที่จะใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยน้ำหมัก เพื่อที่จะลดต้นทุน แล้วก็อยู่อย่างพอเพียง โดยเราไม่ต้องไปพึ่งเคมี” ด้านความรู้เทคโนโลยีและการขายออนไลน์นั้น มีศูนย์ดิจิทัลชุมชนบ้านดอนหวาย ตำบลสะเดา อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ช่วยจัดอบรมให้กับสมาชิกที่อยู่ในเครือข่ายโครงการ “ชาวนาน้อย” โดยสอนตั้งแต่คอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนเบื้องต้น การใช้อินเทอร์เน็ตสืบค้นข้อมูล การถ่ายรูปและการออกแบบวิธีการนำเสนอสินค้าบนหน้าร้านออนไลน์และเฟซบุ๊ก ถือว่าเป็นพื้นที่เรียนรู้ประโยชน์สื่ออนไลน์ของคนในชุมชนและเครือข่าย ปัจจุบันนอกจากสมาชิกหลายคนใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวเป็นช่องทางขายข้าว “ชาวนาน้อย” แล้ว ยังเปิดเพจ “ชาวนาน้อย บุรีรัมย์” เป็นช่องทางสื่อสารกิจกรรมและประชาสัมพันธ์แบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างยิ่งขึ้น รวมทั้งนำสินค้าไปวางจำหน่ายบนร้านค้าออนไลน์ “ไทยแลนด์ มอล์ ดอท เน็ต” “การเอาเทคโนโลยีมาช่วยทำให้สินค้าเราดูทันสมัยขึ้น จูงใจให้ลูกหลานอยากช่วยสานต่อกิจการครอบครัว ประกอบกับปัจจุบันมีกระแสเอาข้าวสารไปขายเอง คนรุ่นใหม่ก็ยิ่งสนใจ อยากเอาข้าวที่บ้านไปช่วยขาย การขายผ่านออนไลน์ ผ่านเฟซบุ๊ก ผ่านไลน์ต่างๆ ทำให้ชาวนาสามารถขายข้าวตรงถึงลูกค้าได้เอง ไม่ต้องเอาข้าวไปขายให้โรงสีเหมือนแต่ก่อน”
แสดงเพิ่ม